SAF น้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน ทะยานสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า
แม้ SAF (Sustainable Aviation Fuel) หรือน้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืนจะเป็นคำที่ไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไหร่ แต่เชื่อว่าอีกไม่นานเรื่องของ SAF จะมีบทบาทต่อสิ่งแวดล้อมและการเดินทางด้วยเครื่องบินอย่างแน่นอน เพราะจะเห็นได้จากความนิยมอย่างแพร่หลายของรถ EV ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดค่าน้ำมันแล้ว ยังช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ในทางกลับกันการเดินทางด้วยเครื่องบินก็ถือเป็นวิธีการเดินทางที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ปัญหาก็คือ การบินแต่ละครั้งจะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยข้อมูลของ World Economic Forum ได้อธิบายว่าแต่ละไฟลต์บินจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนมาก โดยหากเทียบแล้วจะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากกว่าที่ประชากรใน 56 ประเทศได้สร้างขึ้นตลอดทั้งปีเลยทีเดียว ดังนั้นการเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืนก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่จะช่วยพลิกสถานการณ์เหล่านี้ได้
SAF ทางเลือกใหม่ที่ยั่งยืนคืออะไร
น้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน หรือเรียกย่อๆ ว่า SAF (Sustainable Aviation Fuel) เป็นเชื้อเพลิงเครื่องบินที่ผลิตมาจากวัตถุดิบหมุนเวียนหลากหลายชนิด ซึ่งรวมถึงของเสียและขยะหลากประเภท เช่น ขยะจากป่าไม้และการเกษตร พืชพลังงาน และมูลสัตว์ เป็นต้น ดังนั้นจึงมีความแตกต่างจากเชื้อเพลิงที่ทำจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่สำคัญการใช้เชื้อเพลิง SAF ถือเป็นการลดก๊าซคาร์บอนไปในตัว ปัจจุบัน IATA หรือสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศมีความพยายามที่จะบรรลุข้อตกลงร่วมกันของสายการบินต่างๆ ด้วยการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero carbon emissions) ให้ได้ภายในปี 2593 ซึ่งทางสมาคมเชื่อมั่นว่าการใช้ SAF จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้สูงถึง 65%
ประโยชน์ของการใช้น้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF)
ลดมลพิษ เกณฑ์ความยั่งยืนของ SAF ต้องมีคุณสมบัติที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างน้อย 50% เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงทั่วไป แต่การวิจัยแสดงให้เห็นว่าหากมีการใช้ SAF อย่างจริงจังจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้สูงถึง 80% เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงเครื่องบินแบบดั้งเดิม มีการคาดการณ์ว่าเชื้อเพลิง SAF ที่ได้รับการพัฒนาปรับปรุงเพิ่มเติมในอนาคตจะมีประสิทธิภาพในการลดก๊าซคาร์บอนได้ 85 - 95% นอกจากนี้ SAF ยังสามารถลดการปล่อยก๊าซที่เป็นอันตรายอื่นๆ เช่น อนุภาคและซัลเฟอร์ได้ 90 - 100% ซึ่งถือเป็นการลดผลกระทบจากการเกิดโลกร้อนได้เช่นกัน
การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เชื้อเพลิง SAF ผลิตจากวัตถุดิบตั้งต้นที่ยั่งยืน วัตถุดิบส่วนใหญ่มาจากขยะจากธรรมชาติ และของเสีย นอกจากนี้ของเสียอย่างมูลสัตว์และตะกอนน้ำเสียที่นำมาใช้ในการผลิตยังช่วยลดมลพิษในแหล่งต้นน้ำ ขณะเดียวกันก็กักเก็บก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้ออกไปจากชั้นบรรยากาศ ส่วนในแง่การกำจัดของเสีย จากปกติที่มักจะใช้การฝังกลบก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะการต่อยอดในการใช้ของเสียเหล่านี้ถือเป็นการเปลี่ยนเส้นทางการทิ้งขยะ ซึ่งช่วยลดผลเสียต่อสภาพแวดล้อมได้
สร้างงานและเพิ่มความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ
ข้อมูลจาก Aviation Benefits ได้อธิบายไว้ว่าการพัฒนาอุตสาหกรรม SAF จะช่วยให้เกิดการจ้างงานและเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น โดยกระบวนการผลิตเชื้อเพลิง SAF จะช่วยสร้างงานได้ถึง 14 ล้านตำแหน่ง นอกจากนี้การผลิตเชื้อเพลิงแบบ SAF ถือเป็นอุตสาหกรรมพลังงานแบบใหม่ ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสในแง่การผลิตเชื้อเพลิงและส่งออกให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีแหล่งกำเนิดและสามารถผลิตได้เพียง 22 ประเทศในโลกเท่านั้น
สำหรับประเทศไทยเองก็มีความตื่นตัวในการใช้ SAF ด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการที่สายการบินแห่งชาติอย่างการบินไทยได้เริ่มนำร่องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนในเส้นทางภูเก็ต-กรุงเทพฯ เมื่อปลายปี 2566 นอกจากนี้บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ปตท. และบางจากต่างก็ได้เริ่มการผลิตเชื้อเพลิงแบบ SAF กันไปบ้างแล้ว ซึ่งหากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง การพัฒนาไปสู่เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนก็จะเป็นจริงได้อย่างแน่นอน

Comments